การเก็บสมุนไพรที่ถูกต้อง

การเก็บสมุนไพร เพื่อให้ได้ปริมาณยามากที่สุด

สมุนไพรไทย
ตำหรับยาที่ได้จาก “สมุนไพรไทย” ถือว่าเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์สมัยใหม่ในปัจจุบันอีกด้วย แต่ในการเก็บสมุนไพรเพื่อนำมาปรุงเป็นยารักษาโรคนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางด้านสรรพคุณทางยาอย่างสูงสุด คนสมัยก่อนจะเก็บตามช่วงเวลาที่เหมาะสมและลักษณะของการใช้งาน ตามที่ผมได้ศึกษาในหนังสือ “สมุนไพรไทย” เล่มเก่าอยู่เล่มหนึ่ง มีวิธีการเก็บสมุนไพรอย่างนี้ครับ

- หากจะเก็บประเภทดอก
ควรจะเก็บในช่วงที่ดอกของสมุนไพรกำลังเริ่มบานหรือบานเต็มที่แล้ว เพราะจะเป็นช่วงที่สมุนไพรสะสมปริมาณตัวยาเอาไว้ค่อนข้างสูง แต่ก็มีสมุนไพรบางชนิดที่ต้องเก็บในช่วงที่ดอกตูม เช่น กานพลู เป็นต้น

- หากจะเก็บส่วนรากหรือหัว
ให้เก็บในช่วงเวลาที่พืชสมุนไพรชนิดนั้นหยุดการเจริญเติบโตแล้ว สังเกตได้จากดอกและใบจะร่วงออกจนเกือบหมด หรือในช่วงต้นฤดูหนาวจนถึงปลายฤดูร้อน เช่นกระชายหรือขิง เหตุผลก็เพราะว่าช่วงนี้รากหรือหัวของสมุนไพรดังกล่าว จะสะสมปริมาณตัวยาเอาไว้ค่อนข้างสูง  และการเก็บสมุนไพรก็จะต้องขุดด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้รากหรือหัวสมุนไพรเกิดความเสียหาย จนแตกหักหรือช้ำ

- หากจะเก็บใบหรือเก็บทั้งต้น
ควรเก็บใบของสมุนไพรที่สมบูรณ์ และมีการเจริญเติบโตมากที่สุด ไม่ควรเก็บใบที่อ่อนจนเกินไป เช่นเก็บช่วงที่สมุนไพรชนิดนั้นมีดอกบานเป็นต้น ในการเก็บแนะนำให้ใช้วิธีเด็ดใบ เช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นต้น

- หากจะเก็บประเภทเปลือกของราก หรือเปลือกต้น
สำหรับ “เปลือกต้นของสมุนไพร” ควรเก็บในช่วงฤดูร้อนที่ต่อกับช่วงฤดูฝน คือประมาณปลายๆเดือนเมษายน- ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เพราะในช่วงนี้ปริมาณยาในสมุนไพรจะมีมากกว่าช่วงอื่น และจะเป็นช่วงที่ลอกเปลือกสมุนไพรได้ง่าย แต่ก็ไม่ควรลอกเปลือกของสมุนไพรจนรอบต้น เพราะจะไปกระทบกระเทือนต่อการลำเลียงอาหารของพืช จนอาจทำให้ตายได้ ทางที่ดีควรลอกเปลือกของกิ่งที่เป็นแขนงย่อยออกมา ไม่ควรลอกเปลือกจากต้นใหญ่ หรือจะใช้วิธีลอกเปลือกแบบครึ่งวงกลมของต้นไม้ก็ได้ ส่วนช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บ “เปลือกรากของสมุนไพร” คือช่วงฤดูฝน เพราะการลอกเปลือกรากของสมุนไพร จะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืช ควรทำด้วยความระมัดระวังเพราะอาจทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตหรือตายได้

- หากจะเก็บประเภทผลหรือเมล็ด

สำหรับสมุนไพรบางชนิด อาจจะเก็บในช่วงที่ผลยังไม่สมบูรณ์หรือผลยังไม่สุกก็มี เช่น ฝรั่ง ที่นิยมเก็บผลอ่อนมาเป็นยาแก้ท้องร่วง ส่วนสมุนไพรที่นิยมเก็บช่วงที่ผลแก่เต็มที่แล้วก็มี เช่น ดีปลี มะแว้งเครือ มะแว้งต้น เมล็ดฟักทอง เมล็ดชมเห็ดไทย และเมล็ดสะแก เป็นต้น

จอกบ่วาย สมุนไพรแก้ไข้มาลาเรีย

จอกบ่วาย สมุนไพรแก้ปวดเมื่อย แก้ไข้มาลาเรีย

สมุนไพรไทย
ในวันพักผ่อนหรือวันหยุดสุดสัปดาห์แบบนี้ สุภาพชนคนวัยทำงานอย่างพวกเราก็ต้องพักผ่อน ผ่อนคลายอิริยาบถกันบ้างนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเมื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งสัปดาห์ และก็เช่นเคยครับ สาระดีๆ สำหรับบทความสมุนไพรไทยวันนี้ ขอนำเสนอสมุนไพร ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีคุณประโยชน์อย่างมากมายไม่ว่าจะเป็น แก้ปวดเมื่อย  แก้บิด หรือแม้กระทั่งแก้ไขมาลาเรียก็ยังได้ครับ สมุนไพรที่ว่านี้ก็คือ “จอกบ่วาย” นั่นเองครับ หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหู...รายละเอียดทั้งหมดอยู่ต่อหน้าท่านแล้วครับ
จอกบ่วาย "สมุนไพร" แก้ปวดเมื่อย
จอกบ่วาย สมุนไพรแก้ปวดเมื่อย

จอกบ่อวาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหยาดน้ำค้าง เป็นพืชล้มลุก ขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เปลี่ยนไปทำหน้าที่ดักแมลง มีสีออกแดงรูปซ้อน เรียงเวียนซ้อนกันรอบโคนต้น มีขนปกคลุมทั่วไป เส้นผ่าศูนย์กลางกลุ่ม 1-2.5 เซนติเมตร ดอกย่อยขนาดเล็กติดเรียงอยู่บริเวณปลายช่อ กลีบรองและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้มี 5 อัน ก้านเกสรเพศเมียมี 5 อัน แยกจากกัน ผลมีลักษณะกลมเล็ก พบทั่วไปตามทุ่งหญ้าโล่งๆ หรือตามดินทรายที่ชื้นแฉะในป่าเต็งรัง สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค สมุนไพรชนิดนี้จะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคม – ธันวาคม ทั้งต้นมีรสขม

สรรพคุณทางยาสมุนไพร
ใช้เป็นยาสมุนไพร แก้บิด ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และแก้ไข้มาลาเรีย หรือจะใช้ภายนอกโดยบดเป็นยาถูนวดแก้ปวดเมื่อยก็ได้ผลเป็นอย่างดีครับ

ที่มา: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ เล่ม 7 

เสน่ห์จันทร์แดง สมุนไพรรักษาแผลสด

เสน่ห์จันทร์แดง สมุนไพรรักษาแผลสด

สมุนไพรไทย
เสน่ห์จันทร์แดง จัดเป็นพันธุ์ไม้ขนาดเล็ก มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดินเช่นเดียวกับบอนชนิดอื่นๆทั่วไป ต้นโตขนาดประมาณ 2-3 นิ้วสูงประมาณ 4-5 นิ้ว ส่วนความสูงที่เลยไปจากพื้นคือความสูงของใบและก้านใบ ซึ่งเสน่ห์จันทร์แดงบางต้นอาจสูงได้ถึง 1-1.5 ฟุตเลยทีเดียว ส่วนลักษณะใบจะเป็นใบเดี่ยว แตกออกไปตรงส่วนยอดของลำต้น ลักษณะดอกจะเป็นแท่งกลมยาว ช่อดอกถูกหุ้มเอาไว้ด้วยกาบสีแดง และจะส่งกลิ่นที่หอมไปไกลมาก ส่วนผลของเสน่ห์จันทร์แดงจะมีขนาดเล็กมาก ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงระยะที่กาบห่อดอกแห้งเหี่ยวไปแล้ว
เสน่ห์จันทร์แดง "สมุนไพร" รักษาแผลสด
ประโยชน์และสรรพคุณทางด้านสมุนไพรของ “เสน่ห์จันทร์แดง”

เสน่ห์จันทร์แดง จัดว่าเป็นสมุนไพรที่มีพิษร้าย ซึ่งคนในสมัยโบราณก่อนนั้น มักนิยมนำเสน่ห์จันทร์แดงมาปรุงเป็นยาพิษทำร้ายศรัตรู ส่วนใบของเสน่ห์จันทร์แดงสามารถนำมารักษาแผลสดได้ ส่วนหัวจะใช้ทาแก้โรคไขข้ออักเสบ (เป็นยาที่ใช้ทาภายนอกเท่านั้น) และหากนำเสน่ห์จันทร์แดงมากลั่นด้วยกรรมวิธีทางเคมี ก็จะได้น้ำมันหอมระเหยที่สามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางต่างๆได้

การปลูกและการขยายพันธุ์ “เสน่ห์จันทร์แดง”


เสน่ห์จันทร์แดง เป็นสมุนไพรที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกเหง้าหรือแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย และดินที่มีความชื้นสูง และในการปลูกการดูแลสมุนไพร “เสน่ห์จันทร์แดง” ไม่ควรใช้ปุ๋ยเคมีนะครับ