2 สุดยอดสมุนไพรไล่ยุง

ตะไคร้หอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Cymgopogon winterianus Jowitt.
วงศ์ :   Gramineae
ชื่อสามัญ : Citronella Grass
ชื่ออื่น : จะไคมะขูด ตะไครมะขูด  ตะไคร้แดง
ลักษณะ :  ตะไคร้หอมมีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายกับตะไคร้ ต่างกันที่กลิ่น กาบใบและแผ่นใบ กาบใบของตะไคร้หอมมีสีเขียวปนม่วงแดง แผ่นใบกว้าง ยาวและนิ่มกว่าเล็กน้อย ทำให้ปลายห้อยลงปรกดินกว่า ดอกช่อ สีน้ำตาลแดง แทงออกจากกลางต้น ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก
ตะไคร้หอม "สมุนไพรไล่ยุง"
ประโยชน์ทางสมุนไพร :  ตำรายาไทยใช้เหง้าเป็นยาบีบมดลูก ขับประจำเดือน ขับปัสสาวะ ขับระดูขาว เหง้า ใบและกาบมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีขายในชื่อว่า citronella oil ใช้เป็นยากันยุง โดยละลายน้ำ ตะไคร้หอม 7 ส่วนในแอลกอฮอล์เช็ดแผล (70%) 93 ส่วน ฉีดพ่น หรือตำใบสดหมักในแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:1 ทาตรงขอบประตูที่ปิดเปิดเสมอ หรือชุบสำลีแขวนเอาไว้หน้าประตูเข้าออก หรือใช้ใบตะไคร้หอมมัดแล้วทุบให้ช้ำวางไว้ตามมุมห้องหรือใต้เตียง นอกจากนี้ยังมีรายงานฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคพืชด้วย

ไพล: สมุนไพรช่วยขับลม

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Zingiber purpureum  Roscoe
วงศ์ :    Zingiberaceae
ชื่ออื่น :  ปูลอย  ปูเลย  ว่านไฟ
ลักษณะ :  ไม้ล้มลุก สูง 0.7-1.5 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคน ใบหุ้มซ้อนกัน ใบ  เดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 3.5-5.5 ซม. ยาว 18-35 ซม. ดอก  ช่อ แทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบดอกสีนวล ใบประดับสีม่วง ผล  เป็นผลแห้ง รูปกลม
ไพล: สมุนไพรช่วยขับลม
 ประโยชน์ทางสมุนไพร :  ตำรายาไทยใช้เหง้าเป็นยาขับลม ขับประจำเดือน มีฤทธิ์ระบายอ่อน ๆ แก้บิด สมานลำไส้ ยาภายนอกใช้เหง้าสดฝนทาแก้เคล็ดยอก ฟกบวม เส้นตึง เมื่อยขบ เหน็บชา สมานแผล จากการวิจัยพบว่าในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีคุณสมบัติลดอาการอักเสบและบวม จึงมีการผลิตยาขี้ผึ้งผสมน้ำมันไพล เพื่อใช้เป็นยาทาแก้อาการเคล็ดขัดยอก น้ำมันไพลผสมแอลกอฮอล์สามารถทากันยุงได้ นอกจากนี้พบว่าในเหง้ามีสาร 4-(4-hydroxy-1-butenyl) veratrole ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลม ได้ทดลองใช้ผงไพล กับผู้ป่วยเด็กที่เป็นหืด

สรุปว่าให้ผลดีทั้งในรายที่มีอาการหอบหืดเฉียบพลันและเรื้อรัง